วันอังคารที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

การขนส่งสัตว์และเนื้อสัตว์

การขนส่งสัตว์ไปยังโรงฆ่า การขนส่งสัตว์ไปสู่โรงฆ่าสัตว์นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญต่อคุณภาพเนื้อเป็นอย่างมากเพราะอาจทำให้สัตว์บาดเจ็บ มีรอยช้ำ จุดเลือด หรือสัตว์ตายได้ ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ได้แก่ พาหนะที่ใช้บรรทุก ระยะทางในการขนส่ง สภาพภูมิอากาศ ความแออัด อุปกรณ์ที่ใช้ในการขนย้าย เป็นต้น การดำเนินการในขั้นตอนการขนส่งสัตว์ จะต้องกระทำ ด้วยความระมัดระวังให้ได้ตามมาตรฐานสากลและควรมีความปราณีต่อสัตว์ การขนส่งสัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ ควรปฏิบัติดังนี้ 1. รถที่ใช้ขนส่งซากสัตว์และเนื้อสัตว์ ต้องสะอาดสามารถป้องกันการปนเปื้อนซากสัตว์และเนื้อสัตว์ในขณะขนส่งได้ และไม่ควรขนส่งซากสัตว์ และเนื้อสัตว์ปะปนกับสินค้าชนิดอื่น
2. ซากสัตว์และเนื้อสัตว์จะต้องบรรจุในภาชนะสะอาดปิดมิดชิด ในกรณีที่รถขนส่ง ไม่สามารถป้องกันการปนเปื้อนขณะขนส่งได้
3. รถขนส่งซากต้องผ่านการล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคก่อนที่จะบรรทุกซากและเนื้อสัตว์
4. การขนส่งซากสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ใช้เวลาเกินกว่า 2 ชั่วโมง ควรมีการควบคุมอุณหภูมิตามจำเป็น
5. มีการปรับปรุงรถขนส่งสัตว์มีชีวิต เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ และลดความเครียดระหว่างการขนส่ง
6. ในการนำสัตว์มีชีวิตขึ้นลงรถขนส่ง ควรมีทางลาดให้สัตว์เดิน หรือมีอุปกรณ์ช่วยยกภาชนะบรรจุสัตว์ขึ้นลง
7. มีรถบรรทุกขนส่งซากสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ปิดมิดชิด สะอาด และสามารถควบคุมอุณหภูมิซากสัตว์ และเนื้อสัตว์ได้ตลอดระยะเวลาการขนส่ง โดยอุณหภูมิซากสัตว์และเนื้อสัตว์ต้องไม่สูงเกิน 7 องศาเซลเซียส
8. รถขนส่งจะต้องเปิดเครื่องทำความเย็นให้ได้อุณหภูมิตามที่กำหนดก่อนขนส่งซากสัตว์และเนื้อสัตว์ขึ้นรถ
9. มีการตรวจสอบความสะอาด และอุณหภูมิรถขนส่งก่อนนำซากสัตว์และเนื้อสัตว์ขึ้นรถ
การขนส่งสัตว์ปีกมีชีวิต (transportation for poultry)
1. พาหนะขนส่งสัตว์ปีก
1.1 ต้องแข็งแรง และเหมาะสมกับชนิดของสัตว์ปีกและจำนวนของกรงบรรจุสัตว์ปีก
1.2 มีช่องระบายอากาศอย่างพอเพียง ไม่ปิดทึบ พื้นไม่ลื่น ไม่มีการระบายของเสียและน้ำระหว่าง
การขนส่ง มีวัสดุหรือหลังคาสำหรับป้องกันแดดและฝน
1.3 ในการขนส่ง สัตว์ปีกที่บรรจุในแต่ละกรงบรรจุมีจำนวนเหมาะสมกับขนาดของกรง
1.4 กรงบรรจุควรมีความสูงและพื้นที่เพียงพอที่สัตว์ปีกยืนและนั่งได้
2. วิธีการขนส่ง
2.1 การขนส่งต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมปศุสัตว์
2.2 ขณะขนส่งต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บกับสัตว์ปีก เช่น ขับเคลื่อน
รถบรรทุกสัตว์ปีกอย่างระมัดระวัง ไม่ออกรถโดยเร็วหรือหยุดโดยกะทันหัน
2.3 ไม่ขนส่งสัตว์ที่เจ็บป่วยร่วมไปกับสัตว์ปกติ
2.4 ระยะเวลาในการขนส่งควรสั้นที่สุด เพื่อให้สัตว์เกิดความเครียดน้อยที่สุด
2.5 งดให้อาหารกับสัตว์ปีก อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก่อนการขนส่ง
2.6 ตรวจดูสัตว์ปีกขณะขนส่งเป็นระยะๆ
2.7 ควรขนส่งสัตว์ปีกมาถึงโรงฆ่าก่อนเวลาฆ่าอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้สัตว์ปีกได้พักก่อนฆ่า
การรับสัตว์ปีกมีชีวิต (reception of poultry)
1. เมื่อสัตว์ปีกถึงโรงฆ่า ให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่เกี่ยวข้องตาม
กฎหมาย
2. บริเวณที่พักยานพาหนะที่มีสัตว์ปีกบรรทุกอยู่ ควรมีหลังคาที่สามารถป้องกันแสงแดดและฝน
ได้ มีระบบระบายอากาศที่ดี อุณหภูมิเหมาะสม และรอฆ่าตามลำดับที่กำหนด
3. การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกต้องทำด้วยความระมัดระวัง
4. ชั่งน้ำหนัก และตรวจนับจำนวนสัตว์ปีก มกอช. 9008-25487
5. ตรวจสุขภาพสัตว์ปีกก่อนฆ่า โดยการตรวจสุขภาพและความผิดปกติ เช่น การหายใจ การ
เคลื่อนไหว และบันทึกผลในรายงานการตรวจสัตว์ปีกก่อนฆ่า ณ หน้าโรงฆ่า โดยพนักงานตรวจโรคสัตว์
6. ในกรณีที่พบสัตว์ปีกที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยให้แยกกักไว้ในโรงพักสัตว์ปีกป่วย และฆ่าภายหลัง
เสร็จสิ้นกระบวนการฆ่าสัตว์ปีกปกติแล้ว หากพบโรคติดต่อให้นำไปเผาในเตาเผา (incinerator) หรือต้มเพื่อทำลาย และแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ
7. กรณีพบสัตว์ปีกที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง เพื่อไม่ให้สัตว์ปีกได้รับความทรมานจะต้องฆ่าสัตว์ปีก
นั้นอย่างไม่ทรมานทันที
8. ภายหลังนำสัตว์ปีกลงจากพาหนะหมดแล้ว ให้ทำความสะอาดและใช้ยาฆ่าเชื้อกรงบรรจุและ
พาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์ปีกทุกครั้งหลังการขนส่ง
9. หลังฆ่าสัตว์ปีกหมดแล้ว ให้ล้างทำความสะอาดบริเวณโรงพักสัตว์ปีก ได้แก่ ที่พักสัตว์ปีก ที่จับ
สัตว์ปีกขึ้นราว และรางระบายน้ำ
การขนส่งซากสัตว์ปีก เนื้อสัตว์และผลผลิต (transportation for poultry carcass,meat and products)
1. พาหนะที่ใช้ขนส่งต้องสามารถควบคุมอุณหภูมิศูนย์กลางเนื้อ ให้ไม่เกิน 7oC ตลอดเวลา
มกอช. 9008-254811
2. การเคลื่อนย้ายซากสัตว์ปีก เนื้อสัตว์ปีกและผลผลิตเพื่อการขนส่ง ต้องทำด้วยความระมัดระวัง
เพื่อป้องกันภาชนะบรรจุแตกหักเสียหาย
3. ประตูรถบรรทุกหรือตู้เก็บ (container) ต้องปิดสนิท ถ้าจำเป็นต้องใส่กุญแจ หรือมัดแน่นด้วย
ลวด หรือวัสดุอื่นที่มีเครื่องหมายแสดงว่าไม่มีการเปิดในขณะขนส่ง
4. ห้ามขนส่งด้วยยานพาหนะคันเดียวกับที่ขนส่งสัตว์ปีกมีชีวิต
5. พาหนะขนส่งหรือตู้เก็บจะต้องล้างหรือทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนและหลังการขนส่ง
ข้อควรคำนึงในการขนส่ง
เมื่อสัตว์ถูกขนส่งออกจากฟาร์มสัตว์ปีกมักจะถูกขนส่งและบรรจุในกรงซึ่งกรงที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดจะเป็นแหล่งปนเปื้อนที่สำคัญโดยสัตว์ปีกจะมีการกระพือปีกและมีมูลสัตว์ที่ตกค้างดังนั้นกรงและรถบรรทุกจึงเป็นแหล่งสะสมของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Salmonella campylobacter (Berang และคณะ, 2000; Ramesh และคณะ, 2003) กรงที่ใช้ในการขนส่งสัตว์ปีกเป็นจุดที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อสัตว์ปีกที่สำคัญ เนื่องจากไม่ได้มีการทำความสะอาดและใช้ซ้ำ จึงเป็นแหล่งสะสมของจุลินทรีย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค (Slader และคณะ,2002) ดังนั้นจึงควรมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจใช้น้ำผสมสารทำความสะอาด (cleaning agent ) ชำระล้างสิ่งสกปรก เช่น ขนไก่ หรือ ฝุ่นผงออกก่อนแล้วจึงแช่ใน สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์เข้มข้น 1000 พีพีเอ็ม ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 นาทีเพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อน (Ramesh และคณะ,2003)
สำหรับสัตว์ใหญ่ เช่น วัวและสุกรก็มีการขนส่งในลักษณะเดียวกัน โดยจุลินทรีย์อาจมาจากขน หนัง กีบเท้า (Reid และคณะ, 2002) และมูลสัตว์จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคส่วนใหญ่คือ Escherichia coli O 157 :H7, Salmonella, Campylobacter, Yersinia และ Listeria monocytogene (Beach และคณะ, 2002; Chang และคณะ, 2003; Lo Fo Wong และคณะ, 2002; Castillo และคณะ,2003) บริเวณตรวจรับสัตว์หรือตรวจรับวัตถุดิบ คือ เนื้อสัตว์สด ในกรณีที่ไม่ได้ทำการฆ่าสัตว์นั้นในโรงงานเองเป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสูง จากงานวิจัยของ Ellebroek (1997) พบว่าจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับอากาศ Enterobacteriaceae จะตรวจพบมากบริเวณรับสัตว์ปีกก่อนนำเข้าสู่โรงฆ่าและในส่วนของบริเวณชำแหละรวมทั้งการปนเปื้อนจากซากหนึ่งไปยังอีกซากหนึ่ง จากการใช้เครื่องมือร่วมกันหรือมือของพนักงานที่ไม่สะอาด (Legg และคณะ,1999; Lo Fo Wongและคณะ,2002) เช่น การลวกซากสัตว์ปีกก่อนการถอนขนอาจช่วยลดจำนวนจุลินทรีย์ที่ผิวได้แต่มีการพบว่า หลังเสร็จสิ้นการถอนขนโดยใช้เครื่อง จำนวนของ Campylobacter, coliforms และ E. coli เพิ่มขึ้น(Berrang และคณะ,2000) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจเกิดการปนเปื้อนข้ามมาจากเครื่องมือที่ใช้

วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ขอไว้อาลัยแด่ คุณครูมณฑิตย์สา มั่นฤกษ์




ขอแสดงความเสียใจ กับการจากไปของคุณครูมณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 พวกเราจะจดจำและระลึกอยู่เสมอว่าครั้งหนึ่ง เคยนั่งเรียนอยู่ร่วมชั้นเดียวกัน เป็นเวลาร่วมปี จนกระทั่งจบการศึกษา และคุณงามความดีที่คุณครูมณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ ได้กระทำมาทั้งหมดเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ พวกเราขอให้ดวงวิญญาณของคุณครูมณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ จงไปสู่สุขคติด้วยเถิด

ป.บัณฑิต การบริหารการศึกษา รุ่น 8 และ ป.โท การบริหารการศึกษา รุ่น 13

วันเสาร์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ความคิดเห็นการใช้กฏหมายแก้ปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และเครื่อข่ายอินเตอร์เน็ต

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการใช้กระบวนการทางกฎหมาย (กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือเครือข่าย อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด จงอภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องให้เห็นเป็นรูปธรรม
ตอบ เห็นด้วยกับการใช้กระบวนการทางกฎหมาย (กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือเครือข่าย อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เพราะเราจะพบว่า ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามามีบทบาทมาก และทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับต่อระบบเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็มีแนวโน้มขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยขอสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ในด้าน ๆ ดังนี้
1. ความผิดสำหรับแฮคเกอร์ พอจะสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1.1 เข้าเว็บสาธารณะย่อมไม่มีความผิด แต่ผู้ที่เจาะระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่สร้างระบบป้องกันไว้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าเจาะเข้าไปถึงข้อมูลที่เก็บรักษาไว้ด้วย โทษจะเพิ่มเป็น 2 เท่า
1.2 ผู้ที่เผยรหัส (password) ที่ตัวเองรู้มา สำหรับเพื่อใช้เข้าระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 1.3 ผู้ที่ดักจับข้อมูลที่เป็นส่วนตัว ซึ่งส่งถึงกันทางอินเตอร์เน็ต ทาง e-mail มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
2. ความผิดสำหรับผู้ปล่อยไวรัส พอจะสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้
2.1 ผู้ที่ทำลายข้อมูลหรือไปเปลี่ยนข้อมูลของผู้อื่นไม่ว่าด้วยวิธีการใด จะใช้ไวรัส หรือแอบเข้าไปทำลาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2.2 การทำลายข้อมูลผู้อื่น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ประเภทคอมพิวเตอร์ควบคุมจราจร มีโทษสูงขึ้นเป็น จำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท ถ้ากระทบถึงความมั่นคงประเทศ จะมีโทษสูงขึ้นเป็นจำคุก 3 – 15 ปี ถ้ากระทำจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจะหนักถึงจำคุก 10 – 20 ปี
3. ความผิดของผู้ที่ก่อกวนหรือแกล้งผู้อื่น พอจะสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้
3.1 ผู้ที่ส่งเมล์ก่อกวนหรือโฆษณาขายสินค้าหรือขายบริการ ประเภทไปโผล่ pop up หรือผู้ที่ส่งเมล์ขยะโดยที่ผู้รับไม่ต้องการ มีโทษปรับอย่างเดียว ไม่เกิน 100,000 บาท โทษฐานก่อความรำคาญ
3.2 ผู้ที่ส่งเมล์เป็นข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น เป็นข่าวลือ ปล่อยข่าวให้เกิดความวุ่นวาย รวมถึงส่งภาพลามกอนาจารทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่ได้รับแล้วส่งต่อด้วย มีโทษเท่ากันคือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
3.3 ผู้ที่ตัดต่อภาพของผู้อื่น แล้วนำเข้าเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ทำให้เจ้าของภาพเสียหาย อับอาย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาท
4. ความผิดของผู้ให้บริการ พอจะสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้
ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องเก็บรวมรวมข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างน้อย 90 วัน เพื่อให้สามารถหาตัวใช้บริการ สำหรับให้ตรวจสอบได้ มิฉะนั้นผู้ให้บริการจะต้องรับโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท การกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ แม้จะกระทำในหรือนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว ถ้าเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือต่างประเทศก็ต้องยอมรับโทษตามกฎหมายนี้ด้วย แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ การกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเตอร์เน็ตนี้จะมีวิธีการจับได้อย่างไร ในทางปฏิบัติกฎหมายให้อำนาจเรียกข้อมูลจากผู้ให้บริการหรือเจ้าของเว็บทั้งหลาย รวมทั้งมีอำนาจที่จะเข้าไปติดตาม ตรวจสอบ คัดลอก ในระบบคอมพิวเตอร์ของใครก็ได้ ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อถือได้ว่ามีการกระทำความผิด แต่การใช้อำนาจเจาะเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นตามกฎหมายฉบับนี้นั้น จะต้องขออนุญาตต่อศาลก่อน จะกระทำโดยพละการไม่ได้ หากเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลที่ใช้อำนาจหน้าที่ไปเจาะข้อมูลมาโดยไม่มีอำนาจ เจ้าหน้าที่มีความผิดด้วย โดยต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท และถึงแม้ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเผย แต่กระทำไปด้วยความประมาททำให้ข้อมูลหลุดเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต ก็จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายที่ดีมีประโยชน์ เพราะทำให้ประเทศไทยได้ชื่อเสียงว่ามีกฎหมายด้านการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกับอารยประเทศทั้งหลาย เป็นการช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ลดน้อยลง และช่วยให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น เช่นเดียวกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะๆ อาทิเช่น ควรมีข้อยกเว้นสำหรับสถานศึกษา ควรมีข้อยกเว้นให้ส่งเบาะแสการกระทำความผิดให้เจ้าหน้าที่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ ควรออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น และควรปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง